พริกไทย ( Pepper )
สรรพคุณเครื่องเทศต่างๆ
ขอนำเสนอสรรพคุณและวิธีการใช้ของเครื่องเทศและสมุนไพรบางชนิดที่หยิบได้ง่ายและใช้สะดวก มาเป็นข้อมูลกับท่านผู้อ่านด้วย ดังนี้
พริกไทย ( Pepper )
ส่วนที่ใช้เป็นเครื่องเทศ คือ ผลแก่ตากแห้งทั้งเปลือก เรียกพริกไทยดำ ผลแก่เอาเปลือกออกเหลือแต่เมล็ด เรียกพริกไทยขาว หรือพริกไทยล่อน ลักษณะผลกลมโตประมาณ 3-5 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอมค่อนข้างฉุน รสเผ็ดร้อน ใช้ทั้งเมล็ดหรือนำไปป่นละเอียด ใช้แต่งกลิ่นอาหาร สรรพคุณทางสมุนไพร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดฟัน ช่วยเจริญอาหาร
พริกไทย
ประเด็นเทคโนโลยีที่ควรถ่ายทอด
1 การผลิตพริกไทยที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและปลอดจากศัตรูพืช
2 การผลิตพริกไทยที่มีคุณภาพ ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของเชื้อรา จุลินทรีย์ และปลอดภัยจาก
การใช้สารฟอกขาวหรือสารเคมีอื่นๆ
เนื้อหา
1 การผลิตพริกไทยที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างและปลอดจากศัตรูพืช
1.1 การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน
ศัตรูพืชที่สำคัญของพริกไทย ได้แก่ โรครากเน่าและโคนเน่าส่วนใหญ่มีปัจจัยมาจากเชื้อสาเหตุ โรค ได้แก่ เชื้อรา Phytophthora parastica รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและความอ่อนแอของต้นพริกไทย ดังนั้นการที่จะลดความเสียหายจากโรคก็ต้องเริ่มจากการเลือกสถานที่ปลูก การเตรียมดินแปลงปลูกและสภาพอากาศของแหล่งปลูกที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพริกไทย และปรับสภาพพื้นที่ปลูกไม่ให้เหมาะสมกับการเจริญและพัฒนาของเชื้อสาเหตุโรคหรือใช้สารเคมีหรือสารอื่นๆในการลดปริมาณเชื้อโรคในแปลงปลูก ตามรายละเอียดดังนี้
1. แปลงปลูกพริกไทยจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชื้นแฉะหรือเป็นแอ่งน้ำ หากพบสภาพดังกล่าวจะต้องปรับพื้นที่ไม่ให้มีสภาพน้ำขัง
2. ควรทำแปลงปลูกให้มีสภาพเป็นลอนลูกฟูกเพื่อให้มีการระบายน้ำได้ดี
3. หากพบดินเป็นกรดควรปรับด้วยปูนขาวหรือปูนโดโลไม้ท์เพื่อให้ความเป็นกรดน้อยลง
4. ปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ โดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้ดินสามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดีและรากพืชสามารถพัฒนาและนำอาหารพืชไปใช้ได้ง่าย
5. ตัดแต่งกิ่งหรือแขนงตามบริเวณโคนต้นออกให้โปร่ง เพื่อลดความชื้นและให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกดีขึ้น
6. เก็บใบ กิ่ง ก้าน ที่ร่วงหล่นอยู่ตามบริเวณโคนต้นออกไปเผาไฟทำลายเสียให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
7. ควรเลือกยอดพันธุ์พริกไทยจากแปลงปลูกหรือแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรค
8. ต้นที่เป็นโรคตายควรขุดเผาทำลายแล้วรดดินหลุมปลูกด้วยสารเมตาแลกซิลให้ทั่วแล้วจึงปลูกซ่อม และการปลูกซ้ำก็ควรทิ้งระยะเวลาประมาณ 1 ปี
9. การป้องกันกำจัดโดยชีววิธี โดยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของดินปลูกให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ปฏิปักษ์และจุลินทรีย์อื่นๆ ที่มีประโยชน์ในดิน ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอม่า เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส เป็นต้น หรือนำจุลินทรีย์ซึ่งมีผู้ผลิตขายเป็นการค้าในรูปผง นำไปใส่ในแปลงปลูกร่วมกันอินทรียวัตถุต่างๆเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในแปลงปลูกให้มากขึ้น และควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นพริกไทยยังมีอายุน้อย 1-2 ปี
10. การป้องกันกำจัดโรคโดยวิธีผสมผสาน ได้แก่ การใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ใส่ลงไปในดินร่วมกับการใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์ การปรับความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสม รวมทั้งการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเมื่อพบอาการโรค และการเก็บส่วนของพืชเป็นโรคนำไปเผาทำลาย เป็นต้น
1.2 การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องปลอดภัย
1. ถ้ามีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ให้เลือกใช้ใน ชนิด อัตรา และระยะเวลาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
2. ต้องใช้สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตรายและมีคำแนะนำบนสลากให้ใช้กับ พริกไทย
3. ต้องไม่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พศ. 2535
4. ต้องหยุดการใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว ตามเวลาที่ระบุในคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
5. จดบันทึกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
สรุปคำแนะนำการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพริกไทย
1. โรคที่สำคัญ
1.1 โรครากเน่า เกิดจากเชื้อรา อาการระยะแรกเถาจะเหี่ยวในเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง ต่อมาปราง(กิ่งแขนง)เริ่มหลุดเป็นข้อๆตั้งแต่โคนต้นถึงยอดขั้วกิ่งเป็นสีเหลืองและดำ ส่วนรากเน่าดำและมีกลิ่นเหม็น ป้องกันโดยอย่าให้น้ำขังในฤดูฝนเผาทำลายต้นที่เป็นโรค และฉีดพ่นด้วยฟอสอีทิลอลูมิเนียม 820%WP และฟอสฟอริค แอซิด 40%L
1.2. โรครากขาว เกิดจากเชื้อรา ใบเหลืองและร่วง พบเส้นใยสีขาวปกคลุมที่รากบางส่วน ป้องกันโดยเผาทำลายส่วนที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ถ้าระบาดรุนแรงใช้ควินโตซีน 24%EC ผสมน้ำราดหรือฉีดพ่น
1.3. โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม เข้าทำลายที่รากฝอย เกิดเป็นปมเห็นได้ชัดเจนนอกจากนี้ทำให้ผนังเซลล์เป็นแผล เป็นสาเหตุให้โรคอื่นๆเข้าร่วมทำลายได้ง่าย ป้องกันโดยคลุมดินก้นหลุมก่อนปลูกด้วยคาร์โบพูราน 3%G หรือพีนามีฟอส 40%G. และโรยรอบทรงพุ่มในช่วงฤดูฝน
1.4. โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อรา ทำลายส่วนใบของพริกไทย เกิดเป็นจุดวงกลมสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ผิวเป็นเงามัน รอบจุดเป็นสีเหลือง ตรงกลางแผลมีลักษณะเป็นวงสีน้ำตาลดำเรียงซ้อนกันเหมือนวงปีของเนื้อไม้ ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้ตายได้ป้องกันโดยตัดแต่งกิ่งและเก็บไปเผาทำลาย พ่นด้วยเบนโนมิล 50%WP หรือแมนโคเซบ 80%WP หรือคาร์เบนดาซิม 50%WVF
1.5. โรคราเห็ดพริกไทย เกิดจากเชื้อราเป็นเส้นใยสีขาวเจริญบนผิวเปลือกของลำต้น กิ่ง และใต้ใบ ทำให้ลำต้น กิ่งใบ แห้ง และตายได้ ป้องกันโดยอย่าให้น้ำท่วมขังตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85%WP
2. แมลงที่สำคัญ
2.1. เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงศัตรูพริกไทยที่สำคัญเพราะจะติดไปกับผลผลิตพริกไทยอ่อนสดที่ส่งออกต่างประเทศได้ ตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ใบ และเถาพริกไทย เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลเป็นน้ำหวาน จึงพบว่ามดเป็นตัวพาเพลี้ยแป้งไปปล่อยยังส่วนต่างของต้นพืช ป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล 85%WP อัตรา 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
2.2. มวนแก้ว วางไข่เป็นกลุ่ม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ไม่ติดเมล็ด ผลผลิตลดลง ป้องกันโดยการเก็บตัวอ่อนเผาทำลาย ถ้าระบาดรุนแรงฉีดพ่นด้วย มาลาไธออน50%EC
2.3. ด้วงงวงเจาะเถาพริกไทย ตัวอ่อนเจาะทำลายเถาพริกไทย ทำให้เถาแห้งตายส่วนตัวเต็มวัยจะกัดกินใบและผลพริกไทย ป้องกันโดยเผาทำลาย เถาพริกไทยที่พบรอยเจาะของหนอนด้วงงวง ถ้าระบาดรุนแรงฉีดพ่นด้วย คาร์บาริล 85%WP
2.4. เพลี้ยอ่อน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ใบและยอดแคระแกรน บิดงอ ไม่ติดเมล็ด ป้องกันโดยเก็บทำลาย หรือฉีดพ่นด้วยมาลาไธออน 57%EC
1.3. การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปพริกไทย
1.3.1. เก็บเกี่ยวถูกระยะ
– การเก็บเกี่ยวพริกไทยอ่อน ต้องเข้มงวดในการเก็บเกี่ยวหลังจากการใช้สารเคมีอย่างน้อย 10 วัน รวบรวมไว้ในร่มเพื่อทำความสะอาดและคัดแยกผลผลิตอย่างระมัดระวังไม่ให้มีศัตรูพืชติดไปกับผลผลิต
– การเก็บเกี่ยวพริกไทยดำ ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อผลสีเขียว แก่จัดแต่ไม่สุก
– การเก็บเกี่ยวพริกไทยขาว ต้องเก็บเกี่ยวพริกไทยที่แก่จัด และผลเริ่มสุกเป็นสีแดงที่โคนช่อ ประมาณ 3-4 ผล
1.3.2. กระบวนการทำแห้งเพื่อลดความชื้นในพริกไทยให้มีความชื้นตามมาตรฐาน มอก. ซึ่งต้องไม่เกิน ร้อยละ 12 โดยทำการลดความชื้นด้วยการตากแดด หรือลดความชื้นโดยการ อบแห้งด้วยลมร้อน เพื่อป้องกันเชื้อราและจุลินทรีย์
– การทำแห้งโดยวิธีตากแดด ต้องเข้มงวดในเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย ตากผลผลิตพริกไทยบนพื้นที่ยกสูงมีวัสดุรองรับเพื่อป้องกันฝุ่นละออง และสิ่งเจือปนอื่นๆปนเปื้อน
– การทำแห้งโดยใช้เครื่องอบแห้งลมร้อน ทำการอบแห้งผลผลิตพริกไทยด้วยลมร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 65-70 oเซลเซียส
1.3.3. การทำพริกไทยขาวโดยใช้เครื่องมือแปรรูปพริกไทยขาวซึ่งประกอบด้วย เครื่องปลิดเมล็ดพริกไทย เครื่องลอกเปลือกพริกไทย และเครื่องอบแห้งพริกไทยแบบลมร้อน ทำให้ไม่ต้องทำการแช่น้ำเป็นเวลานานเพื่อลอกเปลือกพริกไทย สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ในพริกไทยขาวได้
1.3.4. หลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาวใดๆในการผลิตพริกไทยขาวที่อาจตกค้างในผลผลิต เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการบริโภคพริกไทยที่ปลอดภัยโดยส่งเสริมการบริโภคพริกไทยที่มีสีตามธรรมชาติ
1.3.5. การผลิตพริกไทยดำคุณภาพสูง โดยใช้กรรมวิธีแบบปลอดเชื้อ ตามหลัก GAP และ HACCP เพื่อให้ได้พริกไทยดำคุณภาพดีสำหรับตลาดสินค้าคุณภาพสูงที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในปริมาณต่ำ ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดเพื่อการส่งออก
เอกสารอ้างอิง
เกรียงไกร จำเริญมา และคณะ, 2547. ศึกษาการใช้สารฆ่าแมลงและน้ำมันธรรมชาติบางชนิดเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง พริกไทย. (สำเนา)
แสงมณี ชิงดวง, 2547. การป้องกันและกำจัดโรครากเน่าและโคนเน่าของพริกไทย. (สำเนา)
กรมวิชาการเกษตร, www.doa.go.th. ศัตรูพริกไทย
วารุณี วารัญญานนท์ และคณะ, 2547 โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบต้นแบบการผลิตพริกไทยดำเพื่อ การส่งออก
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง : www.fareedaherb.com
ผู้ลงบทความ : e-mail:fareeda2626@hotmail.com ,www.fareeda-spices.com